สารพันความรู้

เครื่องแกงไทย
 
เครื่องแกง หรือ น้ำพริกแกง เป็นส่วนผสมของเครื่องเทศชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการปรุงอาหารประเภทแกง เครื่องแกงในอาหารไทยแบ่งออกมีหลายชนิด ได้แก่ เครื่องแกงส้ม แกงคั่ว แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น ซึ่งเครื่องแกงแต่ละอย่างจะมีวิธีการเตรียมเครื่องเทศที่เป็นส่วนประกอบเหมือนกัน แต่อาจจะแตกต่างในด้านชนิดและปริมาณของเครื่องเทศที่ใส่ การโขลกน้ำพริกแกงมีขั้นตอนที่ละเอียดพิถีพิถัน น้ำพริกแกงที่ได้ต้องละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนประกอบหลักที่สำคัญในเครื่องแกงไทยได้แก่ พริก หัวหอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ ผิวหรือใบมะกรูด รากผักชี กระชาย เครื่องเทศแห้งต่างๆ เช่น ลูกผักชี ลูกยี่หร่า ดอกจันทร์ ลูกกระวาน กานพลูและอบเชย เป็นต้น
 
สมุนไพรไทย

สมุนไพรไทยที่ไว้ใช้ประกอบอาหารพร้อมสรรพคุณที่น่ารู้
อาหารไทยมีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษในเรื่องการผสมผสานทางคุณค่าอาหารและสรรพคุณทางยาเพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพสูงสุดทั้งในแง่การป้องกันและการบำรุงรักษา ในปัจจุจบันอาหารไทยกำลังได้รับความนิยมระดับนานาชาติ มีร้านอาหารไทยจำนวนมากเปิดในเมืองใหญ่ต่างประเทศ เช่น ลอสแอนเจลลิสและนิวยอร์กประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษและเมืองต่างๆ อีกมากมาย

กรรมวิธีในการจัดเตรียม ประกอบ ตกแต่งอาหารไทยให้อร่อยต้องเริ่มต้นด้วยความพิถีพิถันในการเลือกซื้อเครื่องปรุงที่สดใหม่ จัดเก็บเพื่อรอนำไปประกอบอาหารด้วยวิธีที่ถูกต้อง วัตถุดิบในส่วนของพืชผักและสมุนไพรที่ใช้ในการทำอาหารไทยมีหลากหลายประเภทและพืชผักสมุนไพรที่ใช้ในการปรุงอาหารซึ่งพืชผักและสมุนไพรไทยที่เป็นเครื่องปรุงหลักๆ มีดังต่อไปนี้

ใบกระเพรา
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: ใบสดมีน้ำมันหอมระเหยเป็นยาแก้ขับลม ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับผายลม แก้อาการจุกเสียดในท้อง นอกยังมีฤทธิ์ลดไขมัน ลดน้ำตาล ลดความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดอุดตันและความดันโลหิตสูง

ไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้นที่รู้จักรับประทานใบกะเพราเป็นอาหารและยา ชาวเอเชียทุกชาติก็รู้จักใบกะเพราและบางชาติก็รู้จักใช้ประโยชน์จากใบกระเพราด้วย อย่างเช่นชาวอินเดียที่บูชาใบกระเพราเป็นใบไม้ศักดิ์สิทธิ์ตั้งชื่อให้ว่า โฮลลี่ เบซิลและยังใช้สมุนไพรตัวนี้ปรุงอาหารประจำวัน ซึ่งก็ไม่ต่างกับคนไทยที่อาศัยกลิ่นและรสของใบกระเพราดับกลิ่นคาวและชูรส

ใบกระเพรา
อบเชย
ประเภท: ไว้ปรุงรสอาหาร
สรรพคุณทางยา: แก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง ขับลม ทำให้ท้องเป็นปกติดี ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้ท้องร่วง ขับปัสสาวะ ย่อยไขมัน แก้อ่อนเพลีย มีสารต้านแบคทีเรียและสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวาน

นิยมใช้อบเชยในการทำเครื่องแกงเช่น พริกแกงกระหรี่ประเภทผัด ใช้เป็นไส้กระหรี่ปั๊ปหรือใช้ร่วมกับโป๊ยกั้กในอาหารคาวประเภทต้มเช่น พะโล้และเนื้อตุ๋น ส่วนในประเทศแถบตะวันตก มักใส่อบเชยในของหวาน เช่น ซินนามอนโรลล์ ใช้ผงอบเชยละเอียดโรยหน้ากาแฟใส่นมและนอกจากนี้ยังมีลูกอม หมากฝรั่งและยาสีฟันรสอบเชยอีกด้วย

อบเชย
พริกขี้หนู
ประเภท: ไว้ปรุงรสอาหาร
สรรพคุณทางยา: บรรเทาอาการไข้หวัดและการหายใจสะดวกสบายยิ่งขึ้น ลดการอุดตันของหลอดเลือด ลดปริมาณสารโคเลสเตอรอล บรรเทาอาการเจ็บปวด

พริกขี้หนูโดยปกติผลมักชี้ขึ้น มีลักษณะทั้งแบนๆ กลมยาวจนถึงพองอ้วนสั้น ขนาดของผลมีตั้งแต่ขนาดผลเล็กไปจนกระทั่งมีผลขนาดใหญ่ ผลแก่มีรสเผ็ดจัด ในการนำมาประกอบอาหารสามารถใช้ได้ทั้งในรูปพริกสด พริกแห้ง พริกป่นหรือนำมาดองกับน้ำส้ม พริกเป็นส่วนประกอบหลักของน้ำพริกแกง ใช้ปรุงรสอาหารให้มีรสเผ็ดตามต้องการในอาหารไทยทุกประเภท

พริกชี้ฟ้า
พริกชี้ฟ้า
ประเภท: ไว้ปรุงรสอาหาร
สรรพคุณทางยา: พริกชี้ฟ้าทำให้เจริญาอาหาร ช่วยระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้น แก้หวัด ขับลม ช่วยสูบฉีดโลหิต บำรุงธาตุ และยังมีวิตามินเอสูง ซึ่งเป็นสารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระอันก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

พริกชี้ฟ้ามีผลรูปทรงกระบอกยาวมีลักษณะเป็นกระเปาะปลายเรียวแหลม มักโค้งงอ ยาว 6-9 เซนติเมตร ผิวเป็นมันสีเขียว เมื่อผลแก่สุกจะเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นแดงหรือเหลือง ผลพริกมีความเผ็ดแตกต่างกันไป บางพันธุ์เผ็ดจัด บางพันธุ์ไม่เผ็ดเลย ใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิดหรือใช้ปรุงแต่งให้อาหารมีสีสันสวยงามมากขึ้น

พริกขี้หนู
ส้มซ่า
ประเภท: ไว้ปรุงรสอาหาร
สรรพคุณทางยา: ผิวลูก รสปร่า หอม ใช้ทำยาหอมแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย แก้ท้องขึ้น อืดเฟ้อ น้ำในลูกรสเปรี้ยวอมหวาน กัดฟอกเสมหะ แก้ไอ ฟอกโลหิตใบส้มซ่าและรักษาโรคผิวหนัง

ส้มซ่าเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ผลโตกว่าผลมะกรูดเล็กน้อยคล้ายส้มจุก ผิวหยาบขรุขระค่อนข้างหนา เปลือกผลมีกลิ่นหอม นิยมนำไปหั่นเป็นฝอยๆ ใส่หมูแนม ปลาแนมและหมี่กรอบ เพิ่มกลิ่นหอมทำให้ชวนรับประทานยิ่งขึ้น น้ำขนมจีนที่เป็น "น้ำพริก" เมือนำผลส้มซ๋าแก่จัดผ่าครึ่งผลใส่ลงไปจะช่วยให้มีกลิ่นหอมและช่วยเพิ่มรสชาติในการรับประทาน

ส้มซ่า
กานพลู
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: เปลือกต้น แก้ปวดท้อง แก้ลม คุมธาตุ ใบ แก้ปวดมวนดอกตูม รับประทานขับลม ใช้แต่งกลิ่น ดอกกานพลูแห้งมีกลิ่นหอมจัดมีน้ำมันหอมระเหยมาก รสเผ็ด ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อและปวดท้อง

กานพลูเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเฉพาะ ส่วนที่นำมาใช้ได้แก่ เปลือกต้น ใบ ดอกตูม ผล น้ำมันหอมระเหย วิธีใช้ในการประกอบอาหารแกะเอาเกสรออกก่อน จึงคั่วเพื่อให้มีกลิ่นหอมและมีรสเผ็ด ถ้าใส่ในพริกแกงต้องนำไปป่นก่อนเช่น แกงมัสมั่น แกงบุ่มไบ๋ เป็นต้น หรือจะใช้ทั้งดอกก็ได้ เช่น ใส่ในต้มเนื้อ ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงได้หลายชนิด

กานพลู
ผักชี
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: ช่วยให้ผื่นหัดออกเร็วขึ้น แก้เด็กเป็นผื่นแดงไฟลามทุ่งผล - แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายเป็นมูก แก้ริดสีดวงทวาร มีเลือดออก แก้ท้องอืดเฟ้อ เมล็ด - แก้ปวดฟัน ปากเจ็บ

ผักชีเป็นพืชล้มลุก สามารถใช้ทุกส่วนบริโภค ลำต้นมีสีเขียวเข้มและใบมีขนาดเล็ก สามารถนำมาประกอบอาหารหรือกินสดๆ ก็ได้ นอกจากจะใช้ในการตกแต่งอาหารสวยงามแล้วผักชียังช่วยดับความคาวของอาหารได้หลากหลายชนิด

ใบผักชี
ยี่หร่า
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: ขับเสมหะ แก้นิ่ว ขับระดูขาว ช่วยย่อย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร หญิงหลังคลอดกินจะช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำนม

ยี่หร่าหรือเป็นพืชตระกูลกระเพรา อาหารไทยใช้ยี่หร่าในการปรุงแต่งกลิ่นอาหาร ยี่หร่าเม็ดเล็กจะมีกลิ่นหอมกว่าเม็ดใหญ่ รสเผ็ดร้อนและขม วิธีใช้ในการประกอบอาหารก่อนใช้ต้องคั่วเมล็ดแก่ผ่านการตากแห้ง ทุบหรือโขลกหมักเนื้อสัตว์ดับกลิ่นคาว ให้กลิ่นหอมผสมกับเครื่องแกงเช่น แกงเผ็ด แกงกะหรี่ แกงเขียวหวาน พะแนง หรือใช้แต่งกลิ่นขนมปังหรือเค้ก

ยี่หร่า
ข่า
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: ช่วยขับโลหะและน้ำเหลือง ใช้ขับลมในลำไส้ด้วย เนื้อไม้ใช้ปรุงกับสะค้านและต้นดาวเรือง นำมารับประทานรักษาฝีลมและใช้ปรุงเป็นยาหอมลม รักษาท้องขึ้นอืดเฟ้อจุกเสียดและเป็นยาบำรุงธาตุด้วย

ข่าเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นลงหัวอยู่ใต้ดิน ลักษณะภายนอกของลำต้นมีข้อและปล้องเห็นได้ชัดเจน ส่วนที่นำมาใช้ในการประกอบอาหารเป็นเหง้า ดอกและหน่ออ่อน อาหารไทยใช้ข่าเป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหารและดับกลิ่นคาวพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น ต้มยำปลา ข้าวต้มปลา ต้มข่าไก่เป็นต้น เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงต่างๆ ดอกและลำต้นอ่อนใช้รับประทาน

ข่า
กระเทียม

ประเภท: ไว้ปรุงรสอาหาร

เป็นวัตถุดิบที่เจอเกือบในทุกเมนู ไม่ว่าจะเป็น ผัด แกง ทอด ต้ม มีสรรพคุณหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องควบคุมความดัน บำรุงเลือด ป้องกันโรคหัวใจ ขับลม ป้องกันไขหวัด เป็นต้น

สรรพคุณทางยา: ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ความดันโลหิตสูงและปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือด รักษาโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันโรคหวัดได้อีกด้วย

ส่วนที่ใช้อยู่ในหัวหรือกลีบ หัวใช้สดหรือแห้งก็ได้ กระเทียมนำมาประกอบอาหารหรือใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์และเพิ่มรสชาติให้ักับอาหารประเภทผัดต่างๆ ทั้งยังใช้กระเทียมเจียวโรยหน้าตกแต่งอาหารหรือใช้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในเครื่องแกงชนิดต่างๆ นอกจากนี้ใบและหัวกระเทียมสดยังเป็นผักใช้รับประทาน รวมถึงสามารถนำไปทำกระเทียมดองด้วย

กระเทียม
ขิง
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: ขิงมีฤทธิ์อุ่น ช่วยขับเหงื่อ ไล่ความเย็น ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหารและทำให้ร่างกายอบอุ่น ในทางยานิยมใช้ขิงแก่ เพราะขิงยิ่งแก่จะยิ่งเผ็ดร้อนและจะมีใยอาหารมาก

ขิงมีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวลมีกลิ่นหอมเฉพาะ ส่วนที่ใช้นำมาประกอบอาหารได้แก่เหง้า หน่ออ่อน เนื้ออ่อนในลำต้นและช่อดอกอ่อน ขิงเป็นเครื่องเทศที่ใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร เพิ่มรสชาติและดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์และยังมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายมากมายทั้งโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียมและวิตามินเอ

ขิง
กระชาย
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: กระชายมีรสเผ็ดร้อน สารสำคัญในรากและเหง้ากระชายมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ในลำไส้ช่วยเจริญอาหารและแก้โรคในช่องปากและเป็นยาอายุวัฒนะ

กระชายเป็นพืชล้มลุกมีเหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดิน ซึ่งมีลักษณะเรียว ยาวอวบน้ำ ตรงกลางเหง้าจะพองคล้ายกระสวย ออกเกาะกลุ่มกันเป็นกระจุกเนื้อข้างในเป็นสีเหลืองมีกลิ่นหอม ส่วนที่ใช้ในการประกอบอาหารคือเหง้าและรากเป็นส่วนผสมของเครื่องแกงขนมจีนน้ำยา ใช้เพื่อดับกลิ่นคาวเนื้อและปลา เช่น ผัดเผ็ดปลาดุก แกงเผ็ดเนื้อ หลนปลาร้าเป็นต้น

กระชาย
ผลและใบมะกรูด
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: ช่วยบำรุงหัวใจ ระบบการไหลเวียนของโลหิต แก้ไอ ลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ แก้ช้ำใน อาการเกร็ง แก้ฝีภายในและขับเสมหะ

ใบและผิวมะกรูดเป็นเครื่องเทศผสมใน เครื่องแกงหลายชนิดของแกงเผ็ดและผัดเผ็ด น้ำมะกรูดมีรสเปรี้ยวใช้ปรุงอาหารดับกลิ่นคาว นิยมใส่น้ำมะกรูดในปลาร้าหลน แกงส้ม แกงเทโพ ใบมะกรูดโดยการฉีกหรือหั่นฝอยเพื่อกลบคาวหรือแต่งกลิ่นในแกงเผ็ด ผัดเผ็ด ฉู่ฉี่ปลา แกงต้มส้ม ต้มยำ ห่อหมก ทอดมันและใช้โรยหน้าอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วเพื่อแต่งกลิ่น

มะกรูด
มะนาว
ประเภท: ไว้ปรุงรสอาหาร
สรรพคุณทางยา: แก้ไอ ขับเสมหะ รักษาท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้โรคลักปิดลักเปิด เลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม แก้อาเจียน เมาเหล้า ขจัดคราบบุหรี่และบำรุงสายตา

มะนาวเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งมีรสเปรี้่ยวจัดอยู่ในสกุลส้ม นับเป็นผลไม้ที่มีคุณค่า น้ำมะนาวใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหารให้เปรี้ยว ใส่ในต้มยำ ส้มตำ พล่า ยำ น้ำพริกชนิดต่งๆ เช่น น้ำพริกกะปิ ปลากหมึกนึ่งมะนาวและใช้ผสมน้ำเป็นเครื่องดื่ม

มะนาว
ตะใคร้
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: ขับเสมหะ แก้ไอ เลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม นอกจากนี้ยังช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้อาเจียน เมาเหล้า ขจัดคราบบุหรี่ บำรุงตาและบำรุงผิว

 

จัดเป็นผักสมุนไพรชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาประกอบอาหารโดยเฉพาะกับอาหารทะเล หรือเมนูที่มีกลิ่มฉุน เพราะสามารถดับกลิ่นคาว และช่วยเพิ่มรสชาติของอาหารได้ดี เช่น ต้มยำทะเล, หอยยำตะไคร้, เครื่องแกงต่างๆ เป็นต้น

ตะไคร้เป็นพืชที่เจริญเติบโตง่าย มีทรงพุ่มสูงประมาณ 1 เมตร สามารถนำมาใช้ได้ทั้งต้นทั้งในส่วนของลำต้น หัว ใบและราก สามารใช้ปรุงอาหารได้หลายอย่าง อีกทั้งยังนิยมนำมาต้มเป็นน้ำดื่มช่วยให้เจริญอาหาร มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเพิ่มเกลือแร่ที่จำเป็นหลายชนิดเช่นแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็กและวิตามินเอ

ตะไคร้
ใบสาระแหน่
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: แก้อาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลมในกระเพาะก้อาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อและช่วยขับลมในกระเพาะ น้ำมันสาระแหน่ช่วยขจัดลมร้อน ถอนพิษไข้ ใช้ผสมยาหรือยาอมเพื่อให้เย็นชุ่มคอ

ส่วนที่นำมาใช้เป็นใบสดและลำต้น ใช้รับประทานเป็นผักสดเป็นเครื่้องเคียงแกล้มกับน้ำพริก พล่า ยำ ช่วยดับกลิ่นคาวและช่วยให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน สาระแหน่มักใช้เป็นส่วนผสมในการทำไอศกรีมและชาสมุนไพรทั้งร้อนและเย็น มักผสมในอาหารกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ

ใบสาระแหน่
ลูกจันทน์เทศ
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: แก้การอักเสบของทางเดินปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาขับลม ในอินเดียนำไปผสม เป็นยารับประทานแก้ปวดหัว เป็นไข้หรือทำให้ลมหายใจมีกลิ่นสะอาดและแก้อาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร

ลูกจันทน์เทศและดอกจันท์เป็นเครื่งอยาที่ใช้มากในยาไทยและเป็นเครื่องเทศที่รู้จักกันทั่วโลก มีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอมเฉพาะ เนื้อมีรสเปรี้ยวฝาดเล็กน้อย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เนื้อผลคือส่วนของเมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม ดอกคือส่วนขอเยื่อหุ้มมีสีแดงเข้ม ใช้เป็นเครื่องปรุงแต่งอาหารคาวหวานหลายชนิดเช่น ขนมปัง เนื้อตุ๋นต่างๆ แกงมัสมั่นเป็นต้น

ลูกจันทน์เทศ
ใบเตย
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: บำรุงหัวใจช่วยลดการกระหายน้ำ ลดน้ำตาลในเลือดและนอกจากนี้ยังแก้โรคเบาหวานอีกด้วย

มีลักษณะใบยาวเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบผิวใบเป็นมัน สามารถนำมาใช้ในส่วนของลำต้น รากและใบสด เป็นพืชที่รู้จักกันดีของคนไทยสามารถนำไปใช้ประโชบน์ได้สารพัดอย่าง นำมาปรุงอาหารประเภทคาวหวานและเครื่องดื่ม ช่วยดับกลิ่นคาวเพิ่มกลิ่นหอมของอาหารให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น ใบเตยหอมจะให้ทั้งสีและกลิ่น สีที่ได้จากใบเตยคือสีเขียว

ใบเตย
พริกไทย
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: พริกไทยนั้นมีประโยชน์หลายอย่างเช่น รักษาโรคหลอดเลือดอักเสบเรื้อรัง อาการอ่อนเพลีย โรคผิวหนังหรือแม้กระทั้งระบบย่อยอาหารของเด็กเล็กอีกด้วย

เป็นเครื่องเทศที่ให้รสเผ็ดร้อน สามารถนำมาทำพริกไทยแห้งเป็นเครื่องปรุงสำหรับอาหาร หากนำมาทำให้แห้งทั้งเปลือกจะได้พริกไทยดำ เนื่องจากผงของเปลือกเป็นสีดำปนอยู่ ส่วนพริกไทยขาวได้จากการลอกเปลือกออก พริกไทยเป็นส่วนผสมในเครื่องแกงทุกชนิด คนไทยใช้พริกไทยสดในการประกอบอาหาร เช่น แกงเผ็ด แกงป่า ผัดเผ็ดเป็นต้น

พริกไทย
งา
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: มีโปรตีน ที่มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย คือ กรดอะมิโนเมธิโอนีน งานั้นมีแคลเซียมมากว่านมวัวถึง 6 เท่าแก้โรคปัสสาวะอุตตัน ไอแห้งและกระตุ้นการงอกของเส้นผม

งาเป็นพืชล้มลุก เมล็ดเล็กๆ สีขาวหรือสีดำ มีประโยชน์ต่อร่างกายให้คุณค่าทางโภชนาการสูงอุดมด้วยวิตามินบี ใช้เป็นอาหารและเครื่องเทศ สามารถบีบเอาน้ำมันได้ กลิ่นและรสของเมล็ดงาคล้ายกับถั่ว สามารถนำไปประกอบอาหารได้ทุกประเภทหรือดับกลิ่นครวปลาและอาหารทะเล น้ำมันงาใช้ทำน้ำสลัดเพื่อสุขภาพหรือเป็นน้ำมันปรุงอาหาร

งา
หอมแดง
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: หัวหอม มีรสฉุน ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ช่วยย่อยและเจริญอาหาร แก้บวมน้ำ แก้อาการอักเสบต่าง ๆ ขับพยาธิและช่วยให้ร่างกายอบอุ่น

หอม แดงช่วยดับกลิ่นคาวและเพิ่มรสชาติ เป็นส่วนประกอบสำคัญในเครื่องแกงทุกชนิด ใช้ในอาหารประเภทแกงเผ็ด ต้มโคล้ง แกงเลียง ต้มยำ อาหารประเภทหลน อาหารประเภทยำ ลาบ น้ำพริกต่างๆ อาจาด เมี่ยง เครื่องเคียงของข้าวซอย ใช้ในขนมหวาน เช่นขนมหม้อแกง ใช้หอมแดงซอย เจียวให้เหลืองโรยหน้า ต้นและใบใช้เป็นผักสดสำหรับเป็นเครื่องเคียง

หอมแดง
ต้นหอม
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา: ช่วยในการขับเหงื่อและบพรุงหัวใจ ถ้ากินสดๆ อย่างต่อเนื่องสามารถลดไขมันในเส้นเลือดได้ ถ้านำต้นหอม 5-6 ก้าน ต้มกับขิง 2 แว่น กรองน้ำดื่ม ขับเหงื่อและลดไข้

ต้นหอมเป็นพืชตะกูลเดียวกับกระเทียม มีหัวสีขาวหรือสีขาวปนม่วงอยู่ใต้ดิน สามารถนำมารับปะรทานได้ทุกส่วนทั้งใบ ดอกและหัว มีกลิ่นฉุนและรสซ่านิยมนำมารับประทานเป็นผักเคียงกับอาหารชนิดอื่นๆ เช่น ขาวหมูแดง ส่วนใบใช้โรยหน้าอาหารและใส่ในต้ม ผัด ยำ หรือแกงต่างๆ รวมถึงสามารถนำไปดองด้วย

ต้นหอม
ขมิ้น
ประเภท: ไว้ประกอบอาหาร
สรรพคุณทางยา:เป็นยาลดกรด ขับลมแก้ปวดท้อง แก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลลง ใช้เป็นยาเจริญอาหาร ขับน้ำเหลืองและช้รักษารอบเดือนไม่ปกติ

มีลักษณะเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อเป็นสีเหลือง เหลืองเข้มจนสีแดงจัด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว นำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งสดและแห้ง เหง้าแห้งนิยมป่นเป็นผง ใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายชนิดใช้ปรุงแต่งกลิ่นและรสในอาหาร โดยเฉพาะอาหารทางภาคใต้เช่นแกงเหลือง แกงไตปลา แกงกะหรี่ ไก่ทอดขมิ้นเป็นต้น

ขึ้นฉ่าย

อีกหนึ่งผักสวนครัวที่พบบ่อยอีกชนิดก็คือ ขึ้นฉ่าย ด้วยกลิ่นหอมฉุนที่ช่วยเพิ่มรสชาติให้กับหลากหลายเมนู เช่น ปลาผัดขึ้นฉ่าย แกงจืดเต้าหู้หมูสับ เมนูยำต่างๆ อีกทั้งสรรพคุณในเรื่องบำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต รักษาโรคอัลไซเมอร์ ช่วนลดอาการอักเสบ และต่อต้านมะเร็ง เป็นต้น

ชะอม 

รับประทานเป็นผักจิ้มโดยการลวกหรือนึ่งให้สุก หรือใช้ยอดและใบอ่อนเด็ดสั้นๆนำมาชุบไข่ทอดรับประทานร่วมกันน้ำพริกกะปิ ชาวเหนือและชาวอีสานนิยมนำชะอมไปปรุงเป็นแกง เช่น แกงอ่อม แกงแคและแกงลาว

ประโยชน์
-ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ เนื่องจากมีวิตามินเอสูง

-ยอดชะอมช่วยลดความร้อนภายในร่างกายได้
-รสมันของชะอม มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ
-ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้เป็นปกติ
-รากชะอมนำมาฝนกิน สามารถช่วยแก้อาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยขับลมในลำไส้ได้
-สรรพคุณพิเศษของชะอมที่มีส่วนช่วยในการบำรุงเส้นเอ็น แก้อาการลิ้นอักเสบเป็นผื่นแดง

 

Visitors: 276,957